อาการปวดหัวกับการดำน้ำ หลากหลายสาเหตุที่คุณควรรู้

การปวดหัว เป็นตัวทำลายความสนุกสนานในการท่องเที่ยวและการดำน้ำอย่างหนึ่ง การปวดหัวที่เกิดจากการดำน้ำ หรือเกิดระหว่างการดำน้ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากเรื่องง่าย ๆ เช่นหน้ากากดำน้ำ รัดแน่นเกินไป หรืออาจเกิดจากเรื่องใหญ่โต แต่โดยทั่วไปแล้ว การปวดหัวมักเกิดจากการอาการดังต่อไปนี้

การปวดหัวจากไซนัส

การปวดหัวจากไซนัสเกิดระหว่างดำขึ้นหรือดำลง เนื่องมาจากการบีบตัวของโพรงไซนัส การปวดจะอยู่บริเวณหน้าผาก หน้า หรือบริเวณโหนกแก้ม โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุที่ทำให้โพรงจมูกบีบตัว เกิดจากการที่นักดำน้ำ ไม่ได้ปรับ หรือไม่สามารถปรับความดันในหน้ากาก ให้เท่ากับความดันภายนอก วิธีแก้ไขคือ ดำขึ้นหรือลงให้ช้าลงกว่าเดิม หรือใช้ยาแก้คัดจมูก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ อย่าดำน้ำเมื่อรู้สึกไม่สบาย

การปวดหัวจากความเครียด

การปวดหัวจากความเครียด จะเกิดที่หัวโดยตรง หรือบริเวณคอด้านหลัง สาเหตุเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมาจากความวิตกกังวล และการเกร็งกล้ามเนื้อ บางครั้งการกัด mouthpiece หรือการเกร็งขากรรไกร ก็ทำให้เกิดการปวดหัวในลักษณะนี้ได้ วิธีป้องกันคือ ให้ดำน้ำอย่างสบายๆ ผ่อนคลาย อย่าเครียด หรือเกร็งกับการดำน้ำ

การปวดหัวจากไมเกรน

การปวดหัวจากไมเกรน มักจะเป็นการปวดอย่างรุนแรง บางครั้งเกิดความผิดปกติของการมอง อาการชาตามแขน และคลื่นใส้ร่วมด้วย เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดการปวดหัวเช่นนี้ ควรหยุดดำน้ำทันที ในกรณีที่ผู้ที่เป็นไมเกรน ต้องการดำน้ำควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรเลือกปรึกษาแพทย์ที่เป็นนักดำน้ำ

การปวดหัวจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ

การปวดหัวจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพิษ จะปวดแบบเต้นตุบๆ ที่หัว การปวดหัวลักษณะนี้เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ทั้งนี้เนื่องจากนักดำน้ำนั้น หายใจเข้าน้อยไป หรือหายใจน้อยครั้ง (ช้า) เกินไป เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าน้อยไป ก็จะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายไม่หมด ก๊าซนี้จะสะสมอยู่ในตัวจนเกิดเป็นพิษ และนำมาซึ่งการปวดหัว วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือหายใจเข้าออกลึกและยาว เพื่อล้างคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสม ให้หมดไป ยาแก้ปวดช่วยลดการปวดชนิดนี้ได้น้อยมาก