จากกรณีท่อน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคิล จำกัด (มหาชน) แตกกลางทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุต อ.เมือง จ.ระยอง ประมาณ 20 กิโลเมตร ทำให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลประมาณ 50,000 ลิตร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยล่าสุดผู้นำเข้าบางประเทศแสดงความกังวลว่าสารเคมีตกค้างอาจส่งผลกระทบต่อ ระบบนิเวศน์วิทยาทางน้ำ และ การปนเปื้อนของสารเคมีในสัตว์น้ำ รวมถึงอาจกระทบต่อความไม่มั่นใจของผู้บริโภค และผู้นำเข้าจากต่างประเทศต่างๆ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและแปรรูปสินค้า อาหารทะเลเพื่อการส่งออกแน่นอน เพราะสัตว์น้ำที่จับจากทะเลเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนใหญ่มีแหล่งที่มาร้อยละ 80 จากภาคใต้ของประเทศไทยทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ส่วนสัตว์น้ำที่จับจากภาคตะวันออกมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 20 และในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น ที่เป็นสัตว์น้ำที่จับจากทะเลบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่ว ซึ่งถือว่าน้อยมาก
“ที่สำคัญสินค้าหลักที่ส่งออกไปส่วนใหญ่คือกุ้งแปรรูปแช่แข็ง ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการเพาะเลี้ยง ที่มีระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตลอดสายการผลิต เริ่มตั้งแต่การเพาะเลี้ยงที่มีมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ดี (GAP) มาตรฐาน โค้ด ออฟ คอนดัค (CoC) ของกรมประมง เมื่อวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการแปรรูปก็จะมีระบบควบคุมคุณภาพ ที่ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและควบคุมจุดวิกฤติ (HACCP) รวมถึงมาตรฐานต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าเป็นผู้กำหนด ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ส่งออกไปมีคุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ในระดับสูง อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อีกด้วย”นายพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจระบบนิเวศวิทยาทางทะเลและสัตว์น้ำในบริเวณที่เกิดเหตุ ร่วมกันระหว่างกรมประมงและภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการจัดเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำนำไปวิเคราะห์ได้ข้อสรุปว่า คราบน้ำมันดังกล่าวไม่ได้มีการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงสาธารณาสุขที่มีการสุ่มตัวอย่างหาสารปนเปื้อนใน อาหารทะเลจากตลาดเพและตลาดตำบลแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งพบว่าอาหารทะเลบริเวณดังกล่าวมีความปลอดภัยสามารถบริโภคได้ตามปกติ
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ จะยังคงติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ที่อาจกลายเป็นประเด็นนำไปสู่การกีดกันทางการค้าในอนาคต แต่เชื่อว่าผู้บริโภค/คู่ค้าต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์ และยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอาหารทะเลไทย
แหล่งข่าวจาก posttoday…